
งานซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า
Electrical Appliances Repairs
หน่วยที่ 3 งานบริการและซ่อมเครื่องใช้ ไฟฟ้าที่ให้พลังงานความร้อน
3.1 งานบริการและซ่อมเตารีดไฟฟ้า
3.2 งานบริการและซ่อมกาต้มน้ำไฟฟ้า
สาระสำคัญ
เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้พลังงานความร้อน หมายถึง เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้า เป็นพลังงานความร้อนและนำความร้อนไปใช้ประโยชน์ โดยการให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านลวดความร้อน ที่เป็นโลหะผสมของนิกเกิล เหล็กและโครเมียม มีคุณสมบัติทนความร้อนสูง และไม่รวมตัวกับออกซิเจน พลังงานไฟฟ้าจะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนแล้วถ่ายเทพลังงานความร้อนไปยังภาชนะเพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน
เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้พลังงานความร้อน
เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้พลังงานความร้อน เป็นเครื่องใช้ที่เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานความร้อน โดยใช้หลักการคือ เมื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านขดลวดตัวนำที่มีความต้านทานสูงๆ ลวดตัวนำนั้นจะร้อนจนสามารถนำความร้อนออกไปใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้พลังงานความร้อนมาก จึงสิ้นเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้ามากเมื่อเปรียบกับการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เมื่อใช้ในเวลาที่เท่ากัน ฉะนั้นขณะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าให้พลังงานความร้อนจึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง ตัวอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้พลังงานความร้อน เช่น เตารีด หม้อหุงข้าว กระทะไฟฟ้า กาต้มน้ำ เครื่องต้มกาแฟ เตาไฟฟ้า ฯลฯ
เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้พลังงานความร้อน
ส่วนประกอบในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้พลังงานความร้อน มีดังนี้
1. ขดลวดความร้อน หรือแผ่นความร้อน มักทำจากโลหะผสมระหว่างนิเกิลกับโครเมียม เรียกว่า นิโครม ซึ่งมีสมบัติคือมีจุดหลอมเหลวสูงมากจึงทนความร้อนได้สูงเมื่อมีความร้อนเกิดขึ้นมากๆจึงไม่ขาด และมีความต้านทานสูงมาก.
2. เทอร์โมสตาร์ท หรือสวิตซ์ความร้อนอัตโนมัติ ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ร้อนเกินไป มีส่วนประกอบเป็นโลหะต่างชนิดกัน 2 แผ่นมาประกบกัน เมื่อได้รับความร้อนจะขยายตัวได้ไม่เท่ากัน เช่น เหล็กกับทองเหลือง โดยให้แผ่นโลหะที่ขยายตัวได้น้อย(เหล็ก)อยู่ด้านบน ส่วนโลหะที่จะขยายตัวได้มาก(ทองเหลือง)อยู่ด้านล่าง เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านแผ่นโลหะทั้งสองมากขึ้น จะทำให้มีอุณหภูมิสูงจนแผ่นโลหะทั้งสองซึ่งขยายตัวได้ต่างกันโลหะที่ขยายตัวได้มากจะขยายตัวโค้งงอ เป็นเหตุให้จุดสัมผัสแยกออกจากกัน เกิดเป็นวงจรเปิด กระแสไฟฟ้าจึงไหลผ่านไม่ได้ และเมื่อแผ่นโลหะทั้งสองเย็นลงก็จะสัมผัสกันเหมือนเดิม เกิดเป็นวงจรปิด กระแสไฟฟ้าจึงไหลผ่านได้อีกครั้งหนึ่ง
3. แผ่นไมกา หรือ แผ่นใยหิน ซึ่งเป็นฉนวนไฟฟ้า ในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้พลังงาน ความร้อนบางชนิด เช่นเตารีด หม้อหุงข้าว เตาไฟฟ้า จะมีแผ่นไมกา หรือใยหิน เพื่อป้องกันไม่ให้ขดลวดหลอมละลาย และป้องกันไฟฟ้ารั่วขณะใช้งาน
ตัวอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าและคำแนะนำวิธีใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดประเภทพลังงานความร้อน
เตารีดไฟฟ้า
เตารีดไฟฟ้าในปัจจุบันมี 3 ประเภท คือ
– เตารีดไฟฟ้าแบบธรรมดา ใช้กันโดยทั่วไป
– เตารีดไฟฟ้าแบบไอน้ำ ราคาสูงกว่าธรรมดา ให้ความสะดวกเพราะไม่ต้องพรมน้ำให้กับผ้าก่อนรีด
– เตารีดไฟฟ้าแบบกดทับ ราคาสูงมาก เหมาะกับการใช้งานในร้านซักรีดที่มีการรีดผ้าครั้งละมากๆ
การเลือกใช้เตารีดไฟฟ้า
– ควรเลือกให้มีขนาดเหมาะสมกับปริมาณผ้า เช่น หากมีปริมาณผ้ามาก แต่ใช้เตารีดขนาดเล็ก (750 วัตต์) จะใช้เวลารีดผ้ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เตารีด ขนาดใหญ่ขึ้นจะใช้เวลาน้อยกว่าซึ่งคิดเป็นค่าไฟฟ้าจะใกล้เคียงกัน การใช้งานที่ถูกวิธี- รีดผ้าบางก่อนผ้าหนา เพื่อการปรับอุณหภูมิจากร้อนน้อยไปร้อนมาก
– พรมน้ำให้ผ้าก่อนรีด แต่ต้องไม่มากเกินไป
– ควรรีดผ้าครั้งละมากพอควร ไม่ควรรีด ทีละชุด
– ควรดึงปลั๊กก่อนรีดเสร็จ ประมาณ 3-4 นาที เพราะความร้อนที่เหลือยังเพียงพอ
– เต้าเสียบที่ใช้กับเตารีดควรมีสายดิน
– น้ำที่ใช้เติมเตารีดไอน้ำควรเป็นน้ำกลั่นหรือน้ำอ่อน (ไม่กระด้าง)
การบำรุงรักษา
– หมั่นทำความสะอาดหน้าเตารีด
– ต้องระวังไม่วางเตารีดทับสายไฟฟ้า
– หมั่นตรวจสอบฉนวนหุ้มสายเตารีด และช่วงหน้าเตารีด หากชำรุดต้องรีบซ่อมแซม รายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จากเอกสารของ สพช. เรื่อง “เตารีดไฟฟ้า”
กาต้มน้ำ
– ใส่น้ำให้ปริมาณพอเหมาะกับความต้องการ
– ถ้าต้มน้ำต่อเนื่อง ต้องมีน้ำบรรจุไว้อยู่เสมอ
– ถอดปลั๊กทันทีที่น้ำเดือด
– ไม่ควรวางใกล้วัสดุติดไฟ
– อย่าใส่น้ำให้ปริมาณมากเกินไป เพราะเวลาน้ำเดือดจะเกิดน้ำล้นและทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรได้
– เมื่อไม่ใช้งานเป็นเวลานานควรเทน้ำทิ้งและทำให้แห้ง
– หม้อต้มน้ำร้อนต้องต่อสายดินเพื่อป้องกันไฟรั่ว